จำนวนถาม : จำนวนตอบ : รวมทั้งหมด : 0 มีข้อความ |
|
ข้อความเลขที่ : 16
ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี หรือที่ทางราชการเรียกว่า ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย[1] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยสยาม ที่อพยพมาอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย หลังการยึดครองของอังกฤษ ชาวไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญชาติพม่า แต่ก็ยังไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องฝั่งไทยตลอด และมีชาวไทยในเขตตะนาวศรีที่เข้ามาทำคลอดในฝั่งไทย และต้องการให้บุตรเป็นสัญชาติไทย เพราะมีความเกี่ยวดองกับฝั่งไทย และส่วนใหญ่ทางแถบจังหวัดเกาะสอง (วิกตอเรียพอยท์) ของพม่าก็มีชาวไทยมากมาย แต่ในปัจจุบันยังถือว่าชาวไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ
ประวัติ
ในหลักศิลาจารึกมีบันทึกว่า ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้บันทึกชื่อของเมืองทวายและตะนาวศรีว่าเป็นเมืองในอาณาจักรสยาม ตามปรากฏในพงศาวดาร
ในด้านประวัติศาสตร์ตะนาวศรีปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพะโค เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา เอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ตะนาวศรีเป็นเมืองที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนสยาม[2] ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสยามสมัยอยุธยาระบุว่า มะริดและตะนาวศรีเป็นสมบัติของกษัตริย์สยาม[3] สยามสมัยพระนารายณ์มหาราชมีอาณาเขตแผ่ถึงปัตตานี ลาว ภูเขียว เขมร อังวะ พะโค และมะละกา มีเมืองท่าสำคัญคือมะริด และภูเก็ต และมีจังหวัดสำคัญคือ พิษณุโลก ตะนาวศรี กรุงเทพฯ และเพชรบุรี[4][5][6] เอกสารบางชิ้นระบุการดำรงอยู่ของชาวสยามในมณฑลตะนาวศรี อาทิคณะราชทูตจากเปอร์เซียที่กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2228 "ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์มีพลเมืองที่เป็นคนสยามประมาณ 5-6 พันครัว"[7]
ในอดีตที่ผ่านมา เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองมะริด และตะนาวศรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากของไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่พ่อค้าต่างประเทศทางอินเดีย และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทย ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริด ตะนาวศรี กันบ่อยครั้ง
ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้ง 3 นี้ แม้บางช่วงจะอยู่ในฐานะหัวเมืองที่ไม่ขึ้นกับใครโดยตรง เช่นในปีพ.ศ. 1883 ที่พระยาเลอไทย ราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน หัวเมืองมอญได้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับไทย และได้มาตีเอาเมืองทะวายและตะนาวศรีจากไทยไปได้
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เคยได้ให้ทัศนะว่า เมืองตะนาวศรี และเมืองทวายเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย พม่าชิงเอาไปสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้กรุงศรีอยุธยา เมืองทวายมีไพร่บ้านพลเมืองเป็นทวาย เมืองตะนาวศรีมีไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเม็งหรือมอญและไทยปะปนกัน ผู้คนเมืองมะริดมีญาติพี่น้องอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[8]
หรือในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2302 ซึ่งเป็นช่วงของรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวายซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรีของไทยไปได้ด้วย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทวายคืนจากพม่า แม้จะไม่สำเร็จ แต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2334 เมืองทะวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาสวามิภักดิ์ขอขึ้นกับไทย
ในปี พ.ศ. 2366 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย
ภายหลังในปี พ.ศ. 2408 จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การปักปันเขตแดนไทย-พม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทย ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา
ในช่วงปี พ.ศ. 2408 2410 มีการตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการร่วมสำรวจและชี้แนวเขตแดนของตนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงจังหวัดระนอง โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ผู้บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้เฉียงตะวันตก เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม และมี เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) พระยาเพชรบุรี และพระยาชุมพร(กล่อม) รับผิดชอบตั้งแต่เขตจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจังหวัดระนอง ส่วนอังกฤษได้ตั้ง Lieutenant Arthur Herbert Bagge เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม
เมื่อการสำรวจทำแผนที่ และทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับที่หมายเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญา (Convention) ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 และได้มีการให้สัตยาบันกัน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ภายหลังจากฝ่ายไทยได้ตรวจสอบเห็นว่าแผนที่ The Map of Tenasserim and the adjacent provinces of the Kingdom of Siam ที่อังกฤษจัดทำขึ้นใหม่นั้นถูกต้องแล้ว นับแต่นั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยพม่าตั้งแต่สบเมยถึงปากแม่น้ำกระบุรี จึงได้เปลี่ยนจากเส้นเขตแดนที่ยอมรับโดยพฤตินัย มาเป็นเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยอนุสัญญา บัญชีที่หมายเขตแดนแนบท้ายอนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา
ในอนุสัญญา ได้ระบุเส้นเขตแดนตรงแม่น้ำกระบุรีว่า ..ตั้งแต่เขาถ้ำแดงตามเขาแดนใหญ่มาจนถึงปลายน้ำกระใน เป็นเขตแดนจนถึงปากน้ำปากจั่น ลำแม่น้ำเป็นกลาง เขตแดนฝ่ายละฟาก เกาะในแม่น้ำปากจั่นริมฝั่งข้างอังกฤษเป็นของอังกฤษ ริมฝั่งข้างไทยเป็นของไทย เกาะขวางหน้ามลิวันเป็นของไทย แม่น้ำปากจั่นฝั่งตะวันตกเป็นของอังกฤษ ตลอดจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย ฝั่งตะวันออกตลอดไปเป็นของไทยทั้งสิ้น...
สรุปว่า ในครั้งนั้นกำหนดให้แม่น้ำเป็นกลาง ให้ฝั่งเป็นเขตแดน ฝั่งด้านตะวันตกเป็นของพม่า ฝั่งด้านตะวันออกเป็นของไทย สำหรับเกาะในแม่น้ำถ้าชิดฝั่งตะวันตกก็ให้เป็นของอังกฤษ ถ้าชิดฝั่งตะวันออกก็ให้เป็นของไทย สำหรับเกาะขวางให้เป็นของไทย
กล่าวได้ว่า ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา
หลังวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 หลวงปักษี (คลุ้ม บ่วงราบ) บุตร เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) ได้ส่งกำลังเข้ายึดและปกครอง เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี อย่างลับ ๆ จนถึง นายคุ้ม บ่วงราบ ชาวบ้านรู้จักในนาม "เสื้อคุ้ม" ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขอความร่วมมือตีย่างกุ้ง พร้อมกองทัพญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ก็ไม่มีกำลังต่อสู้พม่าได้ และนายคุ้ม บ่วงราบ ถูกลอบสังหารที่ บ้านบ้องขอน เมืองมะริด พ.ศ. 2489 และนายพรานชม ดูแลกองกำลังและปกครอง จนถึง พ.ศ. 2492 และชาวบ้านบางส่วนเริ่มเดินทางกลับประเทศไทย จนถึง พ.ศ. 2520 หลังจากนี้รัฐบาลพม่าผลักดันอย่างหนัก จนเกิด "ไทยผลัดถิ่นในปัจจุบัน"
เซอร์เจมส์ สก๊อตต์ ระบุว่า ประชากรสยามในมณฑลตะนาวศรีภายใต้จักรวรรดิอังกฤษมีประมาณ 19,631 คน คนสยามอาศัยอยู่ในอำเภอทวาย อัมเฮิสต์ และมะริด[9] กลุ่มคนสยามอาศัยอยู่ในเขตตะนาวศรีในช่วงนั้นตะนาวศรีมีฐานะเป็นมณฑล ประชากรปี พ.ศ. 2444 มีประมาณ 1,159,558 คน ประกอบด้วยคนพม่า กะเหรี่ยง มอญ ฉาน จีน และสยาม คนสยามอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนทางตอนใต้ของพม่า โดยเฉพาะอำเภอมะริด อัมเฮิสต์ และทวาย[10] มะริดอยู่ใต้สุดของพม่า ในปี พ.ศ. 2444 มะริดมีประชากรประมาณ 88,744 คน ในจำนวนนี้มีคนสยามอาศัยอยู่ในตัวเมืองมะริดประมาณ 9,000 คน[11] มะริดในตอนต้นศตวรรศที่ 20 แบ่งการปกครองเป็น 5 ตำบล (Township) คือ มะริด ปะลอ (Palaw) ตะนาวศรี ปกเปี้ยน (Bokpyin)[12] และมะลิวัลย์ (Maliwun)[13] ปกเปี้ยนมีประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2444 ราว 7,255 คน ร้อยละ 18 พูดภาษาพม่า ร้อยละ 53 พูดภาษาสยาม ร้อยละ 20 พูดภาษามลายู[14] ตำบลมะลิวัลย์มีประชากรประมาณ 7,719 คน ประกอบไปด้วยชาวสยาม ชาวจีน และมลายู และคนพม่าแทบหาไม่พบ[15] ตำบลตะนาวศรีตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของอำเภอมะริด และอยู่ติดแดนสยาม ประชากรปี พ.ศ. 2434 มีประมาณ 8,389 คน เพิ่มขึ้นเป็น 10,712 คน ในปี พ.ศ. 2444 ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 พูดภาษาสยาม[16] เมืองสะเทิมอยู่ติดทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ครอบคลุมพื้นที่อาณาจักรมอญเดิม ปี พ.ศ. 2444 มีประชากร 343,510 คน ในจำนวนนี้มีชาวสยามประมาณ 10,000 คน[17]
ในหนังสือ Imperial Gazetteer of India ระบุว่าชาวสยามกระจายเป็นคนส่วนน้อยในอำเภออื่นของมณฑลตะนาวศรี เช่นอัมเฮิสต์ และทวาย ในอัมเฮิสต์ (ปัจจุบันคือเมืองไจก์กามี) สยามตั้งอาณานิคมขนาดเล็กของตน[18] ทวายปี พ.ศ. 2444 มีประชากรประมาณ 109,979 คน และเพียง 200 คนเท่านั้นที่แสดงตนเป็นคนสยาม[19]
อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษของชาวไทยพลัดถิ่นบางส่วนนั้น ได้อพยพมาจากไทยในช่วงศึกถลาง ซึ่งในช่วงสงครามนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษทำให้คนไทยพลัดถิ่นทราบว่าญาติของพวกเขาบางส่วนโยกย้ายถิ่นฐานหลังสงครามเพราะหนีความวุ่นวายทางการเมือง และภาวะข้าวยากหมากแพงหลังสงครามเพื่อไปตั้งถิ่นฐานอีกฝั่ง การย้ายถิ่นเป็นการโยกย้ายไปอยู่รวมกับวงศาคณาญาติที่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว[20]
แม้ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ของประเทศพม่าไปแล้วแต่ชาวไทยในเขตตะนาวศรียังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับคนไทย และรัฐบาลพม่าก็มิได้มีการเข้ามาแทรกแซงในวิถีชีวิตของไทยในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งมีการสู้รบกันในประเทศพม่า ทำให้ชาวไทยพลัดถิ่นในตะนาวศรีอพยพกลับมาในฝั่งไทย และได้ร้องขอสัญชาติไทยจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยได้ออกบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นให้ถือระหว่างที่รอขอสถานะการเป็นคนไทย อย่างไรก็ตามยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ตกสำรวจทำให้ไม่มีบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นดังกล่าว วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 นายประเสริฐ อินทรจักร คนไทยพลัดถิ่นได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จับกุม และตั้งข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ศาลจังหวัดระนองได้มีคำพิพากษาว่าคนไทยพลัดถิ่นถือว่าเป็นคนเชื้อชาติไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งศาลได้มองว่าคนเชื้อชาติไทยย่อมจะมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย
ที่มาhttp://th.wikipedia.org
|
|