จำนวนถาม : จำนวนตอบ : รวมทั้งหมด : 0 มีข้อความ |
|
ข้อความเลขที่ : 23 สวัสดีครับผม
มีข้อมูลแนวทางการจัดทำโป่งเทียมของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชสติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมาฝากครับ
แนวทางการจัดทำโป่งเทียม
ในความจริงแล้วองค์ประกอบของดินในพื้นที่แต่ละแห่งย่อมมีปริมาณแร่ธาตุแตกต่างกันไป เป็นเหตุให้พืชอาหารของสัตว์กินพืชเหล่านั้นในแต่ละพื้นที่มีปริมาณแร่ธาตุแตกต่างกันด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อสังเกตที่ว่าสัตว์ป่าในป่าภาคใต้จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่จัดทำโป่งเทียมน้อยมาก (Bumpakphan, 1997) ดังนั้นจุดประสงค์ของการทำโป่งเทียม จึงมิได้มุ่งหมายที่จะจัดทำแหล่งแร่ธาตุให้สัตว์ป่าได้รับแร่ธาตุครบถ้วนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายถึงการสร้างพื้นที่ที่เป็นแหล่งดึงดูดให้สัตว์เข้ามาเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถได้พบเห็นสัตว์ป่าได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการสร้างโป่งเทียมนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกันไปหลายรูปแบบ ดังนี้
วิธีที่ 1
จากการทดลองศึกษาการทำโป่งเทียมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้พบว่าสัตว์ชอบกินดินโป่งที่มีอัตราส่วนของดิน : กระดูกป่น : เกลือแกง ประมาณ 40 : 2 :1 (แคลเซียม 1450 ppm และโซเดียม 825 ppm) และในอัตราส่วน 20 :2 : 1 (แคลเซียม 2900 ppm และโซเดียม 1650 ppm) มากกว่าสูตรอื่นๆ โดยพบว่าดินโป่งเทียมทั้ง 2 สูตร มีปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสใกล้เคียงกับโป่งธรรมชาติ และได้ทำการสร้างโป่งเทียมในพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโป่งธรรมชาติ โดยเลือกพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีสัตว์ป่ามากินเป็นประจำ มีพืชอาหารจำนวนมาก มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย มีเนื้อดินร่วนปนดินเหนียว ให้ทำการเปิดหน้าดิน และขุดหน้าดินให้เป็นหน้าตัดในแนวตั้งฉาก ขุดหลุมบริเวณด้านบนของหน้า
ตัด และนำกระดูกป่นและเกลือแกงผสมกันในอัตราส่วน 2 : 1 ไปผสมกับดินบริเวณที่จัดทำโป่งเทียม โป่งเทียมที่จัดทำขึ้นจะมีขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ยาว 5 เมตร ลึกประมาณ 1.5 เมตร (อนุชยา, 2529)
วิธีที่ 2
การจัดทำโป่งเทียมของหน่วยงานหรือชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปจากรูปแบบง่ายๆ ที่นำเอาเกลือแกงเพียงอย่างเดียวเทลงบริเวณโป่งดินที่สัตว์ป่ามาใช้ประโยชน์แล้วเอาน้ำราดให้เกลือซึมลงดิน ซึ่งก็พบว่ามีสัตว์ป่าจำนวนมากเข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนั้น จนถึงวิธีการทำโป่งเทียมที่อ้างอิงหลักการทางวิชาการของค่ายเยาวชนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นำก้อนแร่ธาตุอาหารสัตว์ที่มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมนำมาทุบให้ละเอียดแล้วนำไปผสมกับเกลือแกง และไดแคลเซียมฟอสเฟต ในอัตราส่วน 60 : 20: 20 โดยนำธาตุอาหารที่ผสมแล้วเหล่านี้ไปฝังกลบบริเวณที่ขุดไว้กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร และลึก 1 เมตร สำหรับสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้าง ฯลฯ หลังจากเทส่วนผสมทั้ง 3 ชนิด ลงไปและคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงกลบพร้อมกับราดน้ำให้ชุ่ม เพื่อที่แร่ธาตุจะได้ซึมลงดินและส่งกลิ่นเรียกสัตว์ให้เข้ามาในพื้นที่
วิธีที่ 3
โดยหลักวิชาการเรื่องการให้แร่ธาตุเสริมในสัตว์เคี้ยวเอื้องหรือสัตว์จำพวกวัว ควาย นั้นอาจให้ในรูปของแร่ธาตุก้อน ซึ่งเป็นธาตุอาหารสำหรับโค กระบือ ที่มีขายตามร้านอาหารทั่วไป เป็นก้อนทรงกลม หรือสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ขนาด 2 กิโลกรัม สำหรับวางไว้ให้สัตว์เลีย ซึ่งในต่างประเทศจะใช้วิธีการแขวนแท่งเกลือให้สัตว์เลียกิน (นริศ, 2543) แต่สำหรับประเทศไทยที่มีสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ช้างป่า อาจจะไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากในกรณีที่ก้อนแร่ธาตุละลายมีขนาดเล็กลง ช้างหรือกระทิง วัวแดง อาจกินก้อนแร่ธาตุขนาดเล็กทั้งก้อนได้
วิธีที่ 4
เป็นการผสมแร่ธาตุผงขึ้นมาเองโดยใช้สูตรแร่ธาตุผงที่พัฒนาสำหรับสัตว์จำพวกวัว ควาย ซึ่งประกอบด้วย กระดูกป่น 50 ส่วน เกลือป่น 50 ส่วน จุนสีป่น 1 ส่วน โคบอลท์ซัลเฟต 0.06 ส่วน (ยอดชาย และไพโรจน์ ศูนย์วิจัยบำรุงพันธุ์สัตว์ จังหวัดตาก) โดยในส่วนของกระดูกป่นซึ่งเป็นแหล่งของธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัส อาจะมีราคาแพงจึงอาจนำเปลือกหอยป่น หรือหินปูน ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียมที่อยู่ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต มาผสม เมื่อผสมแร่ธาตุผงได้แล้ว จึงนำแร่ธาตุผงที่ผสมขึ้นมานั้น ไปฝังกลบในดินบริเวณโป่งเดิม ที่เป็นโป่งร้างหรืออาจเลือกพื้นที่เหมาะสมที่ไม่เคยเป็นโป่งมาก่อน แต่เป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าเข้ามาใช้พื้นที่บ่อยและอยู่ใกล้ลำห้วย ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ที่มีชื่อกลุ่มเหนือล้อ ได้จัดทำโป่งเทียมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน โดยใช้สูตรแร่ธาตุที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้ เกลือสมุทร 1500 กิโลกรัม เปลือกหอยบดละเอียด 250 กิโลกรัม Dicalciumphosphate 750 กิโลกรัม และตัวตรึงแร่ธาตุ 60 กิโลกรัม สำหรับ Dicalciumphosphae นับเป็นแหล่งของแคลเซียมและฟอสฟอรัส แต่มีราคาค่อนข้างแพง
ขั้นตอนในการจัดทำโป่งเทียม
การจัดทำโป่งเทียมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุกแห่งนั้น ชมรมหรือคณะผู้จัดทำจะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก่อนทุกครั้ง เมื่อได้รับหนังสืออนุญาตแล้วจึงจะสามารถดำเนินการได้โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหล่านั้น
มีรายละเอียดเพิ่มเติมตามนี้นะครับ
http://www.dnp.go.th/Wildlife/Indexpageall.htm
ขอให้สนุกสนานและมีความสุขในการทำกิจกรรมนะครับ
|
|