วิหคเหิร | Posted : 28 / 1 / 2011, 10:08:11 | |
|
จำนวนถาม : จำนวนตอบ : รวมทั้งหมด : 0 มีข้อความ |
|
ข้อความเลขที่ : 9 ต่อยอดครับ ข้อมูลเพิ่มเติม
การหุงข้าวด้วยหม้อสนาม
ภาพและเนื้อเรื่อง โดย PEX SHOTGUN
สวัสดีครับ พี่ๆน้องน้องและผองเพื่อนชาวคนรักมีด นับแต่พี่น้องทั้งหลาย ได้เปิดเว็บนี้ขึ้นมาด้วยใจรักและอุดมการณ์แบบเดียวกัน ผมเองก็ได้รับมอบหมายให้ เขียนเรื่องราวที่เป็นสาระตามถนัดเพื่อให้ชาวเว็บได้อ่านกันเล่นเป็นสาระ หลังจากกลับมาจากไปนอนเล่นกันในป่าที่โป่งลึกกันกับพี่น้องในเว็บ ป๋าDick ของ พวกเราก็เปรยมาว่าอยากให้ผมเขียนบทความลงเว็บบ้าง ช่วงนี้พอมีเวลาบ้างก็จะขอเริ่มตอนแรกเลยนะครับเป็นสาระเกี่ยวกับแค็มป์ปิ้ง ที่หลายคนสงสัยแต่ไม่ค่อยจะมีใครแนะนำหรือแนะนำแต่ไม่ละเอียดนัก เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ
ว่าด้วยการหุงข้าวด้วยหม้อสนาม
อันจะกล่าวถึงหม้อสนามนั้น เป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการหุงหาอาหารในการตั้งค่ายพักแรม เพราะคนไทยอย่างเรานั้นรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ปกติแล้วพวกเราจะถนัดในการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่แสนสะดวกสบายมีใช้ กันทุกครัวเรือน สำหรับการหุงข้าวด้วยเตาไฟทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ในชนบทไม่มีไฟฟ้าใช้ แล้วแทบจะไม่มีใครหุงเป็น เวลาไปตั้งแค็มป์ เราจึงพบเห็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาศัยขนมปังและบะหมี่สำเร็จรูปเป็นอาหาร หลักแทนข้าว
หม้อสนามนั้นเป็นภาชนะที่ออกแบบมาเพื่อให้หุงข้าวได้โดยง่าย คนที่หุงข้าวมือใหม่ ถ้าได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องสามารถหุงได้สวยในครั้งแรก จากประสบการณ์ที่ได้สอนวิชาอยู่ค่ายพักแรมมานานกว่า15ปี ในการหุงข้าวด้วยหม้อสนาม 80% จะประสพความสำเร็จ และอีก 20 % จะเป็นการหุงแฉะและหุงไหม้ (แต่พอกินได้เพราะไม่ดิบ) แต่เมื่อทุกคนผ่านการหุงข้าวด้วยหม้อสนามมาแล้วไม่เกิน 3 ครั้ง ก็จะชำนาญขึ้นและได้ขาวสวยร้อนๆที่ขึ้นหม้อน่ากินแทบทุกใบ ถือว่าเราสามารถฝากท้องไว้ได้เลยทีเดียว เรื่องนี้อาจจะมีหลายคนเคยเขียนไว้ในแบบที่แตกต่างกันไป มาดูแบบของผมบ้างครับ
หม้อสนามคืออะไร
หม้อสนามเป็นหม้อทรงสูง ก้นหม้อโค้งบางคนเรียกว่าโค้งรูปไต เป็นเครื่องครัวที่ใช้กันในวงการทหาร แบบมาตรฐานมีความจุราว1.6 ลิตร (วัดถึงขอบด้านในต่ำกว่าปากราว 2 ซ.ม.) สามารถหุงข้าวสารน้ำหนัก 450-500 กรัม (4 - 5 กระป๋องของหม้อไฟฟ้า) โดยวัดที่ขีดข้าว สามารถทานได้ 4-6 คน แบบอิ่มๆ ผมเองเคยหุงให้สาวๆทานได้ถึง 8 จาน ผู้ที่คิด ค้นหม้อสนามเป็นคนแรกนั้นผมไม่ทราบที่มา แต่ตามที่ผู้ใหญ่ที่เป็นทหารเก่าเล่าให้ฟังว่า การหุงข้าวด้วยหม้อสนามนั้นทหารญี่ปุ่นเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเพราะญี่ปุ่นก็กิน ข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกับไทยและคนเอเชียทั่วไป หม้อสนามนับว่ามีประโยชน์มากมาย นอกจากใช้หุงข้าวแล้วยังใช้ต้มแกง ต้มน้ำชงกาแฟ ฝาของหม้อสนามใช้ทำจานข้าว จานกับ ทำครก ทำเขียง และอาจใช้แทนกระทะได้ยามจำเป็น แต่เราควรต้องมีคีมหรือใช้ไม้ผูกลวดมัด ทำที่จับขณะใช้ทอด
ส่วนประกอบของหม้อสนาม หม้อสนามแบบมาตรฐานที่เห็นอยู่ทั่วไปประกอบด้วย
1. ตัวหม้อ ทำ จากอลูมิเนียมอย่างหนา มีขีดอยู่ด้านใน 2 ขีด ขีดล่างคือระดับข้าวสาร และขีดบนคือระดับน้ำ ห่วงด้านหน้าเมื่อสมัยก่อนเคยใช้ร้อยสายรัด (ปัจจุบันเราใช้ถุงผ้าใบใส่หม้อแทน) ห่วงนี้สามารถใช้ประกอบกับถ้วยตูดกระติกหรือตะขอเพื่อการยกจับได้
2. หูหิ้ว มีอยู่ 2 แบบ คือแบบที่เป็นลวดกลม และเป็นแผ่นอลูมิเนียม
3. ฝา ฝาจะมีอยู่ 2 ชิ้น คือฝาในและฝานอก เวลาเราหุงข้าวจะใช้แค่ฝาในเพียงฝาเดียวเพราะเปิดดูง่ายกว่าฝานอก
การหุงข้าว
สำหรับหุงข้าวก่อนอื่นต้องทำการขุดเตาเสีย ก่อน (ถ้าเรามีเตาแก็สหรือเตาน้ำมันก็จะสะดวกกว่า) การขุดเตาเพื่อหุงข้าเราจะขุดเป็นเตาราง ให้ลึกลงไปประมาณ 6 นิ้ว กว้าง 8-10 นิ้ว ยาวตามความต้องการ โดยมากก็ราว 2 ฟุต หาไม้ง่ามปักหัวท้ายแล้วเอาไม้พาดตามความยาวของเตาความสูงเมื่อแขวนหม้อแล้ว ก้นหม้อจะอยู้สูงจากฟืน 2-3 นิ้ว จุดไฟให้ติด ใช้ฟืนขนาดย่อมๆเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดราว 1-2 นิ้ว จะได้ไฟที่แรงดี เกลี่ยไฟทั่วหลุม เหตุที่ต้องขุดหลุมเตาเพราะความร้อนนั้นจะถูกบีบให้ขึ้นตรงมาด้านบนไม่ กระจายไปด้านข้าง ต้านทานแรงลมได้ดีกว่า ประหยัดเชื้อเพลิง(ฟืน) อีกทั้งเวลากลบจะไม่เห็นร่องรอยเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ใส่ข้าวสารในหม้อให้พอดีขีดล่าง อย่าให้เกินแต่ใส่น้อย กว่าเล็กน้อยได้ ถ้าขีดล่างไม่ชัดเจนให้ใช้วิธีตวงด้วยฝานอกโดยข้าวสารเสมอขอบฝานอก ก็จะพอดีเหมือนกัน เติมน้ำสะอาดให้ถึงขีดบน ปิดฝาในเพียงฝาเดียว ไม่ต้องปิดฝานอก ใส่ราวไม้คานขึ้นวางเหนือเตาไฟ เร่งไฟให้เป็นเปลวให้น้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดจะสังเกตง่ายเพราะน้ำจะดันฝาในให้ลอยขึ้นมาและมีน้ำล้นออกมา โดยน้ำที่ล้นออกมาจะราไฟด้านล่างให้เหลือแต่ถ่านแดงๆ ถ้าหุงข้าวเป็นราวหลายหม้อ ก็ให้เกลี่ยไฟไปสุมหม้อที่ยังไม่เดือดให้แรงขึ้น หม้อที่เดือดแล้วสามารถกระเถิบให้ห่างเปลวไฟเป็นการดงข้าว ด้วยการอังไฟถ่านแดงๆ สำหรับเตาแก็สหรือเตาน้ำมันให้หรี่ไฟให้สุดให้มีไอน้ำพลุ่งขึ้นมาเบาๆเมื่อ ข้าวบานเต็มที่(ถ้าใส่ข้าวพอดีขีด)จะดันฝาหม้อลอยสูงขึ้นมา ก็เตรียมยกลงได้ เทคนิคการหุงในการดงข้าวเราสามารถเอาช้อนหรือไม้เคาเบาๆด้านที่โค้งตามความ สูงของหม้อ ถ้ารู้สึกทึบๆหนักแสดงว่ายังแฉะ แต่ถ้าเสียงแห้งๆหลวมๆ แสดงว่าข้าวแห้งแล้ว สังเกตได้ว่าไอน้ำก็จะออกมาน้อยมาก ให้รีบยกลงมาวางด้านล่างได้เลยเพราะช้าไปอาจไหม้ได้ คุณไม่ต้องกลัวแฉะครับ ปล่อยให้ระอุด้านนอกเตา หันไปทำกับข้าวรอกินได้เลย คุณจะได้ข้าวสวยร้อนๆราวหม้อหุงข้าวไฟฟ้าทีเดียว
เทคนิคพิเศษเกร็ดความรู้ของการใช้หม้อสนาม
เมื่อเราก็ทราบถึงวิธีการหุงข้าวด้วยหม้อสนามกันมาแล้ว คราวนี้มาดูส่วนประกอบอื่นๆที่น่าสนในกันบ้าง อีกทั้งการเริ่มต้นที่จะใช้หม้อสนามกัน
ถุงใส่หม้อสนาม
เป็นถุงผ้าใบที่ทำมาเพื่อบรรจุหม้อสนามโดย เฉพาะมีห่วงร้อยเข็มขัดเพื่อการพกติดตัวหรือรัดติดเป้ไปได้ ถุงใบหนึ่งนี้ราคาไม่แพงมานัก (ผมซื้อมาราคา 80 บาท) แต่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เพราะก้นหม้อที่ผ่านเตาไฟมา จะมีคราบเขม่าดำๆติดอยู่บางครั้งเราไม่ได้ล้างหรือล้างไม่สะอาดเวลาเอาใส่ เป้ก็จะเลอะเปรอะเปื้อนของในเป้ได้ การเอาหม้อสนามห้อยไว้นอกเป้จึงเซฟพื้นที่ใช้สอยในเป้ได้ดีกว่า โดยในถุงผ้าใบจะมีความหนารักษาความร้อนได้ดีกว่า เราสามารถใส่ของจำเป็นไว้ใต้หม้อสนามได้ เช่น เขียง โดยผมเอาเขียงพลาสติกบางๆ ราคา 20-40 บาทมาตัดให้ได้ทรงโค้งเหมือนก้นหม้อรองก้นถุงไว้เพื่อใช้งาน แถมยัดลวดขนาดเล็กซัก 2-3 เมตร เพื่อเอาไว้ใช้งานที่ต้องถูกไฟลนตลอดเวลา อาทิเช่น ใช้แขวนหม้อ แขวนกา เป็นต้น
ในหม้อสนาม ใส่อะไรลงไปบ้าง
ตามปกติหม้อสนาม 1 ใบนั้นในการเดินทางเรามักจะไม่ปล่อยให้ว่างเปล่าๆ แต่เราควรบรรจุสิ่งของจำเป็นในการใช้งานต่างๆไว้เพื่อหยิบใช้ได้ง่าย ผมจะยกตัวอย่างให้ดูว่าสิ่งของที่ผมใส่ลงในหม้อสนามเวลาเดินทางมีอะไรบ้าง
1. ข้าวสารจำนวน 1 ฝา(นอก) เราสามารถหุงกินได้ 1 หม้อ ตวงใส่ถุงพลาสติกมัดหลวมๆ เพื่อจะได้อัดลงได้พอดีก้นหม้อ
2. เกลือ 1 ห่อเล็ก ทำอาหารและใช้ล้างหม้อจานได้
3. ช้อนสั้น 2-3คัน
4. เทียนไข 1 กระปุก (เป็นเทียนที่หล่อเอง จะเขียนให้อ่านในภายหลัง)
5. น้ำพริกแห้งๆ 1 ถุง พวกน้ำพริกนรก (ทำกับข้าวเฉพาะกิจ) ซุปไก่ก้อนหรือต้มยำก้อนซัก 2 ก้อนก็ไม่เลวใช้ประโยชน์ได้แน่นอน
6. ถ้วยน้ำจิ้ม 1-2 ใบ
7. น้ำปลาบรรจุซอง ใส่ลงไปซัก 3-4 ซอง
8. ไฟแช็ก 1-2 อัน ห่อกันน้ำด้วย
9. ที่เปิดกระป๋องหรือมีดอเนกประสงค์
10. ลวดเล็ก 3-5 เมตร
11. อลูมิเนียมฟลอยด์ อย่างหนา 2-3 ตารางฟุต ใช้ทำกับข้าวและพับเป็นภาชนะ
12. ขี้ไต้ หรือ ไต้เทียนไข 4-5 อัน (อันนี้ก็ทำเองจะเขียนให้อ่านกันต่อไปครับ)
13. เขียง ตัดให้ได้ขนาด รองก้นถุงหม้อสนาม
14. ถุงร้อน 8x10 นิ้ว 4-5 ใบ พร้อมยางรัด ไว้เพื่อต้องตักข้าวแบ่งไว้หรือใช้แทนกล่องข้าว โดยเฉพาะถ้ามีหม้อใบเดียวแล้วทั้งใช้หุงข้าวและต้มแกงด้วย
15. ถ้า ยังมีที่เหลือ ในระหว่างฝาในและฝานอก ผมจะใส่กล่องยังชีพขนาดเล็กลงไปด้วย หรือเสริมด้วยมีดทำครัวเล็กๆหรือมีดพับขนาด 3-4 นิ้วได้อีกจะดีมาก
จากรูปจะเห็นได้ว่าหม้อสนามใบหนึ่ง สามารถใส่อุปกรณ์ที่จำเป็นได้เพื่อใช้ดำรงชีพในภาวะฉุกเฉินได้อีกด้วยเทคนิค นี้ไม่หวงห้ามครับนำไปใช้ได้เลย อย่างน้อยอุปกรณ์ในการประกอบอาหารก็อยู่ครบครันในหม้อสนาม 1 ใบเรียบร้อย กันกระแทกและกันความชื้นได้ดียิ่งขึ้น
สารพันสาระของหม้อสนาม 1. ได้หม้อสนามมาครั้งแรกจะทำอย่างไรก่อน
เมื่อเราซื้อหาหม้อสนามครั้งแรกก่อนอื่นควรต้มน้ำทิ้งเสีย 1 รอบโดยเติมน้ำให้เกินขีดบนเล็กน้อยปิดฝาในแล้วต้มให้เดือดซัก 10 นาที ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นซัก10 นาทีแล้วรินน้ำออก กลิ่นต่างๆ ที่ติดมากับหม้อใหม่ๆก็จะเบาบางลงไป ล้างด้วยน้ำยาล้างจานให้สะอาดเท่านี้ก็พร้อมใช้แล้วครับ
2. การดูแลรักษาอย่างไร
การดูและรักษา หลังจากการใช้หุงให้ทำการล้างให้สะอาดอย่าให้มีเศษอาหารเหลือข้ามคืนจะทำให้ บูดเน่าและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ถ้าข้าวติดแข็งใช้แช่น้ำไว้ซักพัก ค่อยล้างออกเว้นแต่ติดแน่นจริงๆก็ต้มน้ำอีกซัก 10 นาทีรับรองว่าเศษอาหารหลุดแน่ครับ หม้อที่ผ่านเตาฟืนจะมีคราบดำติดอยู่ให้ล้างพอหมดไม่จำเป็นต้องขัดให้ใส เพราะขัดยากปล่อยให้เป็นสีรมดำอย่างนั้นก็ดูขลังดีครับ ส่วนภายในล้างตามปกติแต่อย่าขัดมันเลยดีที่สุด เพราะจะมีสารเคลือบไว้แบบหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะทำให้ข้าวไม่ติดก้นหม้อ (แต่ถ้าหุงไหม้ก็ต้องขัดออกอยู่ดี) ตากให้แห้งเพื่อให้พร้อมใช้ในครั้งต่อไป
3. ควรหัดหุงข้าวก่อนเข้าป่า
เมื่อเราเตรียมหม้อไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าคุณจะลองหุงข้าวเสียก่อนที่บ้านก็ไม่ผิดกติกาอันได้ เวลาเข้าป่าจริงๆจะได้หน้าไม่แตก หรือ เวลาไฟดับนานๆแล้วหม้อไฟฟ้าใช้ไม่ได้ จะได้มีข้าวกิน เตาแก็สที่บ้านเราคุมเปลวไฟได้ง่ายกว่าเตาหลุมเยอะเลย หัดไว้ไม่เสียหลาย แล้วคุณจะแปลกใจว่าหม้อนี้ใครนะช่างสร้างมา หุงข้าวมันง่ายเสียนี้กระไร ในภาวะฉุกเฉิน ไฟฟ้าอาจไม่มีใช้แต่ผมเชื่อว่าแก็สในครัวเรายังมีอยู่แน่นอน
4. ฝาหม้อฝืดทำอย่างไร
ฝาหม้อโดยเฉพาะฝาใน ควรเปิดได้ง่ายไม่ฝืด เพราะเราสามารถใช้ด้ามช้อนปลายมีดแง้มฝาขึ้นมาดูได้ปกติจะหลวมพอสมควร ถ้าฝืดเกินไปก็สามารถดัดปากหม้อได้ เพราะมักเกิดจากการบิดเบี้ยวของปากหม้อ และสาเหตุที่พบมากคือ ผิดฝาผิดตัว แบบว่าเอาฝาหม้อใบอื่นมาใส่สลับกัน ถ้าใช้หม้อรวมกันหลายๆใบก็ดูให้ดีครับ
5. ใช้อะไรล้างหม้อ
เราสามารถใช้ เกลือ ขี้เถ้า ผงซักฟอก สบู่ แทนน้ำยาล้างจานได้ ใย บวบ ทราย ไม้ไผ่ทุบแตกเป็นฝอย สามารถใช้แทนแผ่นไยขัดหม้อได้ หรือคุณสามารถใช้การต้มน้ำในหม้อสนามเพื่อละลายสิ่งสกปรก หรือคราบไขมันในการทำกับข้าวอย่างอื่น ได้อีกด้วย
6. ก้นหม้อดำ ผิดหรือไม่
ตอบได้ว่าเป็นปกติครับ ถ้าเราหุงด้วยฟืนบ่อยๆก้นหม้อก็จะดำล้างออกยากมาก ถ้าจะล้างให้ออกต้องลงมือขัด จนอาจทำให้ก้นหม้อบางลงจนทะลุได้ ถ้าหุงด้วยเตาแก็สหรือน้ำมัน ก้นหม้อก็จะดำน้อยลง บางคนก็ใช้วิธีเอาดินโคลนทาบางๆที่ก้นหม้อเพื่อให้เขม่าติดก้นหม้อน้อยลงขัด ออกง่าย แต่ก็จะทำให้หม้อร้อนช้าเพราะดินโคลนเป็นฉนวนกันความร้อนแต่ก็มีข้อดีที่ ข้าวในหม้อจะระอุน่ากินอยู่นานๆ
หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์กับทุกท่านนะครับ ... สวัสดี
Credit: www.konrakmeed.com
|
|
| |
Board : vision12 | |